ความแตกต่างระหว่างพิธีกร กับพิธีการ
The Different between Spokeperson and Organizer


โดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. ม.เชียงใหม่
ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล ขอนแก่น, ประเทศไทย
Glocalization Training Center, Khon Kaen, THAILAND

           ปัจจุบันมีความเข้าใจผิด กันบ่อยมาก ในเรื่องของคำสองคำ คือ พิธีกร (Spokeperson) กับ พิธีการ (Organizer) ซึ่งความเข้าใจผิดได้นำไปสู่ผลเสียหายบ่อยครั้ง เช่น การหาบุคคลมารับผิดชอบเป็นพิธีกร ในการจัดงาน แต่กลับไม่มีฝ่ายพิธีการ หรือ Organizer งานนั้นเลยตกไปอยู่กับผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพิธีกร ที่จะต้องไปยืนอยู่หน้าเวที ถือไมค์ ปัญหาเกิดขึ้น ไม่มีใครวิ่งแก้ไข อันเกิดจาก ไม่มีคนทำหน้าที่เป็น Back end ให้ซึ่งก็คือ ฝ่ายพิธีการ หรือ Organizer นั่นเอง นี่หละ จึงเป็นที่มาของบทความ ฉบับนี้ ที่ต้องการสร้างความเข้าใจคำสองคำนี้ ให้กระจ่าง เพื่อเราจะได้ไม่ผิดพลาดเวลาจะจัดงานหรือ ทำงานอะไรที่ต้องเกี่ยวข้องกับ คนสองคนนี้
           พิธีกร คือใคร พิธีกร ทำหน้าที่อะไร พิธีกร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เรามาดูกัน เพื่อจะได้มองเห็นภาพ ซึ่งพิธีกร เป็นบุคคลที่ทุกคนรู้จัก เพราะไปงานไหนๆ ก็มักจะ รู้ว่าใครเป็นพิธีกร ส่วน พิธีการนั้น มักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นใคร อาจจะเห็นวิ่งไป วิ่งมาบ้าง แต่ก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรบ้างเหมือนกัน เรามาดูกันก่อนว่า พิธีกร คือใคร

พิธีกร (Spokeperson)
หน้าที่ของพิธีกร
       1. พูดกับผู้มาร่วมงาน สื่อสารกับผู้มาร่วมงาน ด้วยการแนะข้อกำหนดการ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Agenda เพื่อให้ทุกคนทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
       2. พิธีกรทำหน้าที่ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าบนเวที เช่น กรณีแสง หรือเสียงมีปัญหา พิธีกรจะรีบตันสินใจว่าจะเอาอย่างไร จากนั้นพิธีการ จะรีบดำเนินการแก้ไข ปัญหาทางด้านล่างเวที โดยประสานกับพิธีกร ตลอดเวลา
       3. พิธีกรทำหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศการประชุมหรือ การชุมนุม หรือทำให้งานบรรลุตามวัตถุประสงค์
       4. พิธีกร ทำหน้าที่ทำหน้าที่สร้างสรรค์งานคุณภาพ ภาพลักษณ์ของงานจะเป็นอย่างไร พิธีกร สำคัญอย่างยิ่ง
พิธีกรควรจะมีทักษะอะไรเป็นพิเศษ
       1. พิธีกรควรจะเป็นคนพูดเป็น ทักษะการพูดต้องดี
       2. พิธีกร ต้องบุคลิกดี
       3. พิธีกรต้องสื่อสารแล้วคนฟังเข้าใจ
       4. พิธีกรต้องไม่พูดมาก เกินไป
       5. มีทักษะในการใช้เคื่องมือในการหากิน โดยเฉพาะไมโครโฟน ต้องใช้ให้เก่งๆ
พิธีกรมีค่าตัวไหม
       1. พิธีกร ต้องแต่งตัว แต่งหน้า
       2. บางครั้งพิธีกร ต้องเช่าชุดเพื่อมาทำงานให้เข้ากับ Conept ของงาน
       3. พิธีกร ต้องเดินทาง เหาะไปงานไม่ได้ พิธีกร ต้องกินข้าว ไม่สามารถอิ่มทิพย์ได้
โดยสรุป
       โดยสรุปแล้ว คนทำหน้าที่เป็นพิธีกร ในงานประชุม สัมมนา หรืองานรื่นเริงต่างๆ จะต้องทำงานหนัก เพราะต้องใช้ทักษะ หลากหลายด้าน ต้องตัดสินใจเก่งด้วย รวมทั้งต้องแสดงออกในแบบที่ Smart มีท่าที ที่สง่างาม เพราะต้องอยู่ต่อหน้าสาธารณะชน จำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่หลายๆ คนไม่เข้าใจการทำหน้าที่พิธีกร ก็คือ เข้าใจว่า เขามาทำหน้าที่ในการพูดเพียงอย่างเดียว จ่ายเงินค่าเหนื่อยให้สัก 500 สัก 1000 ก็พอ ทำงานแค่สองสามชั่วโมงเอง นี่คือ ความเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก ต่อไปนี้ผม ในนามของสมาชิกสมาคมพิธีกร คนหนึ่งขอเรียกร้องให้เข้าใจกันใหม่ พิธีกร ต้องแต่งตัว ต้องสวมชุด ต้องเดินทาง ต้องกิน ต้องอยู่ ค่าใช้จ่ายในการจ้าง คนให้มาทำงานให้ประสบความสำเร็จ จึงควรจะเริ่มต้นที่ ประมาณ 3000 บาทขึ้นไป และให้เข้าใจใหม่ว่า การเป็นพิธีกร หากงานสำเร็จ ทุกคนจะได้หน้า ผู้จัดได้รับการชื่นชม พิธีกร ไม่ค่อยได้อะไร มีคำชมนิดๆ หน่อยๆ แต่หากงานนั้น เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ระหว่างงาน คนที่จะถูกอัดก็คือ พิธีกร เนี่ยเป็นกันอย่างนี้หละ วงการ การจัดงานไม่ว่าจะของหน่วยงานไหน ดังนั้น ตามมารยาทของพิธีกร เราจึงไม่เคยเสนอตัวเอง ไปเป็นพิธีกรกันเท่าไหร่ จะเป็นเจ้าภาพ สนใจ แล้วติดต่อมา มากกว่า การที่เข้าภาพติดต่อมา แสดงว่า เขาสนใจ และเลือกความเป็นตัวเราไปเป็นพิธีกร ไปทำงานให้เขา

พิธีการ (Organizer)
หน้าที่ของพิธีการ
       1. ประสานงานการจัดงาน ตลอดกระบวนการ
       2. จัดทำกำหนดการร่วมกันเจ้าภาพงานและประสานพิธีกร
       3. ประสานงานข้อมูลกับพิธีกรตลอดเวลาการจัดงาน
       4. อำนวยความสะดวกในการดำเนินงาน
       5. ตัดสินใจแก้ไขปัญหาในแบบ Back End ในการจัดงาน
พิธีการเป็นใคร
       1. ฝ่ายพิธีการหรือผู้ทำหน้าที่พิธีการ อาจจะเป็นคนของเจ้าภาพจัดงาน หรืออาจจะว่าจ้างคนนอก ที่มีความเป็นมืออาชีพ เข้ามาจัดการ
       2. พิธีการต้องทำงานได้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าภาพ สถานที่ อาหาร พิธีกร วิทยากร การแสดง หรือแม้แต่ คนดูแลกุญแจห้องน้ำ
       3. พิธีกร จะต้องทำงานเป็นทีม เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างราบรื่น
       4. พิธีการ อาจจะเรียกว่า เป็นกลุ่มปิดทองหลังพระ
พิธีการต้องจ้างไหม
       1. ไม่ว่าจะใช้คนในองค์กรหรือนอกองค์กร ก็มีค่าใช้จ่าย อย่างน้อยก็ค่าโทรศัพท์
       2. บางครั้งต้องใช้ทีมงานหลายคน เช่น คนประสานการแสดง คนประสานแขกเข้าโต๊ะ งานแต่งงาน ก็ต้องมีค่าใช้จ่าย
โดยสรุป
       ในการจัดงานอะไรสักอย่างหนึ่ง ตั้งแต่งานวันเกิดไป จนถึงงานศพ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ควรจะมีฝ่ายพิธีการ หรือ Organizer จะช่วยให้งานดำเนินไปได้อย่างดี ไม่ติดขัด ไม่มีปัญหา โดยหากฝ่ายพิธีการ กับทีมงานพิธีกร ได้สื่อสารกันแต่เนิ่นๆ ก็จะยิ่งเป็นการดี และหากทีมพิธีกร กับ พิธีการ มาด้วยกันก็ยิ่งจะดี เพราะการทำงานของเขาจะเป็นทีม

       นี่คือ เรื่องราวของ ความแตกต่างระหว่าง พิธีกร กับ พิธีการ ก็หวังว่าท่านผู้อ่านทุกท่านจะเข้าใจใหม่ให้ตรงกัน เพื่อจะได้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในการทำงาน เวลาต้องจัดงาน เชิญคนมาทำหน้าที่อะไร จะได้ใช้งานถูกบทบาท รวมทั้งจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้เหมาะกับ การลงทุน ลงแรงของเขา
       หากท่านที่สนใจ เรื่องราวของพิธีกร และพิธีการ ก็ลองหาหนังสือ เกี่ยวกับการพูดมาอ่านดูนะครับ มีหลายเล่มที่ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้ อ่านแล้วไม่แน่นะ อาจจะมีหลายคน หันมายึดอาชีพการเป็น พิธีการ แทนการเป็นพิธีกร อย่างผมเอง แต่ก่อนทำงานเป็นพิธีกร บางงาน ไม่ได้ค่าเหนื่อย บางงาน ได้ 500 บางงาน 1000 สูงสุดก็ 5000 บาท ทำงาน 2 ชั่วโมง แต่พอทำงานบนเวทีมากเข้า มองเห็นงานชิ้นสำคัญ ก็พัฒนาทีมงานขึ้นมา รับงาน เป็นทั้งพิธีกร และพิธีการ ไปด้วย รับเงินเพิ่มขึ้นอีก เป็นหลายพัน นี่ก็เพราะการแสดงให้เจ้าภาพเห็นว่า พิธีกร กับพิธีการ แตกต่างกัน และจำเป็นต้องมีพิธีการในการจัดการงานด้วย
        จากประสบการณ์ในเรื่องนี้ของผมเอง มีอยู่งานหนึ่ง คือ การประชุมใหญ่สมาชิกชมรมร้านขายยาแห่งประเทศไทย ที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 8 พฤษภาคม 2548 ผมได้รับการติดต่อจากประธานชมรมให้ไปทำหน้าที่เป็น ฝ่ายพิธีการ (โดยมีค่าเหนื่อยให้ด้วย - จ้างไปทำงาน) แต่มีกลุ่มคนบางกลุ่มเข้าใจว่า ผมเสนอหน้า อยากไปเป็นพิธีกร ซึ่งก็เป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง ทำให้หลายๆ คนเริ่มมองว่า ผมอยากเป็นพิธีกร จนตัวสั่น นี่ครับ เป็นกรณีศึกษา เรื่องของความเข้าใจผิดของ คำสองคำที่ใกล้เคียงกัน ทำงานประสานกัน (พิธีกร กับ พิธีการ)
       
หลักสูตรฝึกอบรม
       ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล เรามีหลักสูตรสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาการพูด และการทำงาน เพื่อเป็นพิธีกร และพิธีการ ไว้บริการ หากสนใจ ก็ e-mail : dmindmap@yahoo.com หรือสายตรง เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี 0-1661-8579 ทีมงานในการฝึกอบรม นำทีมโดย อาจารย์เครือวัลย์ โพธิ์ศรี ผู้ดำเนินรายการ พิธีกรรับเชิญจากช่อง 11 และอาจารย์เดโช แสนภักดี ฝ่ายวิชาการ ศูนย์ฝึกอบรม เรามีบริการทั้งแบบเป็นกลุ่มใหญ่ และ การอบรมรายบุคคล

ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล
Glocalization Training Center