Mind Map and Focus Group
การประยุกต์ใช้ Mind Map ในการทำ Focus Group

ภก.ประชาสรรณ์ แสนภักดี
เรียบเรียงโดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. CMU
ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล - ขอนแก่น
e-mail : dmindmap@yahoo.com

          เครื่องมือ ในการเจาะลึกข้อมูลที่น่าสนใจ อีกอันหนึ่งก็คือ การทำ Focus Group บทความในตอนนี้จะนำเสนอหลักการทำ Focus Group และการประยุกต์ใช้ Mind Map ในการช่วยการทำ Focus Group ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการนำ Mind Map มาช่วยในการบันทึกการประชุม Focus Group ของผู้ที่รับผิดชอบ Note Taker ในการทำ Focus Group
          ก่อนอื่นผู้เขียนต้องขอเล่าประสบการณ์ส่วนตัวในการทำ Focus Group ก่อนนะครับ ผู้เขียนเคยทำหน้าที่เป็น Modulator ในการทำ Focus group ประมาณปี พ.ศ. 2536 ในการเข้าร่วมอบรมนักวิจัย ของ อย. รุ่นที่ 1 ณ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดย พื้นที่ที่ไปทดลองทำ Focus Group คือที่ บ้านเป็ด ตำบลบ้านเป็ด อ.เมือง ขอนแก่น โดยมีท่าน อาจารย์เพ็ญจันทร์ ประดับมุข เป็นผู้ดูแลการทำ Focus Group ในการทำหน้าที่ในครั้งนั้น ผู้เขียนได้เรียนรู้ ประสบการณ์หลายอย่าง พอจะสรุปได้ คร่าวๆ ดังนี้
       1) การทำหน้าที่ Modulator หลักๆ คือ ต้องฟังให้มากกว่าพูด
       2) ต้องสร้างบรรยากาศ ก่อนจะเริ่มการแลกเปลี่ยน (Socialize)
       3) ต้องมองภาพสุดท้ายให้ออกว่าต้องการอะไรในการพูดคุย (The Whole)
       4) การทำงานเป็นทีมร่วมกับ Note taker และ Facilitator จะต้องเป็นไปอย่างราบรื่น
       5) ต้องสร้างบรรยากาศให้เป็น
       6) สำคัญจับประเด็นให้ได้ ต้องเข้าใจความหมายจากคำพูดของสมาชิก(Listen not hear)
       7) อื่นๆ อีกหลายอย่าง
       นั้นคือ ประสบการณ์ของการทำหน้าที่เป็น Modulator ในการทำ Focus group เรื่องที่เป็นประเด็นหลักในครั้งนั้นก็คือ ปัญหาการใช้ยาของชุมชน บ้านเป็ด คนที่เข้ามาร่วมก็เป็นแม่บ้าน พ่อ บ้าน ที่บ้านเป็ด
       หลักจากนั้น ผู้เขียนก็เริ่มสนใจ การทำงานในลักษณะของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกลุ่ม (Group process) อื่น ๆได้ศึกษาเครื่องมือ ในการทำงาน กับภาค ประชาชน อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น AIC - FSC รวมทั้งระยะหลังๆ มาได้มีโอกาส เป็นวิทยากร ในการบรรยายและทำกระบวนการกลุ่มที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก บางเวที คนเข้าร่วมเกือบ 200 คน ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียนสนใจในเรื่องของ บทบาทของ Modulator และ Facilitator รวมทั้งแสวงหาเครื่องมือ และเทคโนโลยี สมัยใหม่มาช่วยงาน ในการทำงานกับกลุ่มภาคประชาชน ก็เลยได้มาเจอเครื่องมือที่ชื่อว่า Mind Map เข้า ได้มีโอกาสนำไปประยุกต์ใช้ในการทำกระบวนการกลุ่ม Group Process บ่อยครั้ง เช่น การทำประชาคม ชุมชนสมานฉันท์ ให้กับ กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม
       การนำ Mind Map มาประยุกต์ใช้ในการทำ Focus Group จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ที่ขอนำเสนอต่อไป ใครที่เก่งๆ เรื่องนี้ ก็ลองทนอ่านดูนะ ผู้เขียนนำเอาประสบการณ์ จริงมาถ่ายทอดผ่านหน้าเว็บ

หลักการในการทำ Focus Group
       การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) มีเทคนิคที่นิยมใช้หลายๆ อย่าง ประกอบด้วย
       1) เทคนิคการฉายภาพออกไปข้างหน้า (Projective Technique)
       2) การเล่าเรื่อง (Storytelling)
       3) การสัมภาษณ์เจาะลึก (Depth Interview)
       4) การสัมภาษณ์คู่
       5) การสัมภาษณ์ หรือการสนทนากลุ่ม (Focus Group Interview)
       โดย ในบางครั้งการทำงานเชิงคุณภาพอาจจะต้องใช้เทคนิคที่หลากหลายประกอบกัน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความสมบูรณ์ ที่สุด ใครที่ตั้งคำถามว่า Focus group คืออะไร อยู่ส่วนไหนของการทำงาน วิจัย หรือการหาข้อมูล ก็ให้เข้าใจว่า Focus Group เป็นเทคนิคหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลเชิงคุณภาพ นั่นเอง
       Focus Group ถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1946 โดยเริ่มต้นจากกลุ่มที่ทำงานทางด้านสังคมศาสตร์ (Social Sciences) มีลักษณะเป็นการสนทนาถกแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหา ที่มีการกำหนดหัวข้อเฉพาะ บางประเด็นของผู้จัด (Organizer) โดยกลุ่มคนที่เข้าร่วมประมาณ 8-10 คน ซึ่งเรียกว่า เป็น Participants หรือ Respondents โดย ผู้ที่จะเข้าร่วมการทำ Focus group จะได้รับการคัดเลือก (Screen ) ตามเงื่อนไขมาอย่างดี
       มีผู้นิยามความหมายของ Focus group ไว้ คือ Jane Imber and Betsy Ann Toffler ได้นิยามไว้ว่า
       Focus Group Interview คือ เทคนิคการสัมภาษณ์กลุ่มแบบไม่มีโครงสร้างซึ่งนำคน 8-12 คน มารวมกันภายใต้การนำของผู้สัมภาษณ์ที่ผ่านการอบรมแล้ว (Trained Modulator) โดยจะพูดคุยเจาะไปยังเรื่องเฉพาะเจาะจง (Specific Issue) เช่น ปัญหายาเสพติดของชุมชน ปัญหาการผลิต OTOP มีผู้ดำเนินการสนทนา (Modulator) ที่ชำนาญในการพูดคุย มีความชำนาญสูงในการทำหน้าที่แนะนำเรื่องที่จะคุย และคอยกระตุ้นสมาชิกสนทนา
       ในการทำ Focus Group มีองค์ประกอบที่จะต้องพิจารณา เพื่อให้งานสมบูรณ์ คือ
       1) จำนวนกลุ่ม
       2) ขนาดของกลุ่ม จำนวนคนเข้าร่วม
       3) การจัดหาผู้เข้าร่วมสนทนา (Screen)
       4) การพิจารณาผู้ดำเนินการสนทนา (Modulator)
       5) การพิจารณาสถานที่ และการเก็บประเด็นข้อมูล
       6) การพิจารณาแนวการสัมภาษณ์ (Guide line)

     

            ความรู้การทำ Focus Group ก็มีคร่าวๆ ประมาณนี้ หากผู้อ่านที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ เรื่อง การเข้าถึงผู้บริโภคด้วย Focus Group ซึ่งเขียนโดย ผศ.แอนนา จุมพลเสถียร ราคาเล่มละ 145 บาท หนา 130 หน้า ISBN 974-92371-8-8 พิมพ์ครั้งที่ 1 สิงหาคม 2547 ซึ่งเขียนอธิบายเรื่องราวของ Focus group ไว้อย่างละเอียดและเข้าใจง่าย หาซื้อหนังสือ เล่มดังกล่าวได้จากร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป มีจำหน่ายสำหรับผู้สนใจ
เนื้อหาในเล่ม แบ่งเป็น 10 บท ประกอบด้วย
บทที่ 1 การตลาดกับการวิจัยผู้บริโภค บทที่ 2 การวิจัยกับกลุ่มเป้าหมายทางการตลาด บทที่ 3 การตัดสินใจซื้อกับพฤติกรรมผู้บริโภค บทที่ 4 Focus Group เพื่อการวิจัยผู้บริโภค บทที่ 5 ความสำคัญของ Focus Group บทที่ 6 องค์ประกอบที่ต้องพิจารณาในการวางแผนจัดทำ Focus Groups บทที่ 7 การวางแผนจัดทำ Focus Groups บทที่ 8 การจัดทำ Focus Groups บทที่ 9 ข้อดี และข้อด้อยของการทำ Focus Group บทที่ 10 ข้อแนะนำในการทำ Focus Groups


คำถามสำคัญก็คือ และจะเอา Mind Map มาใช้ตอนไหน ในกระบวนการทำ Focus Groups
        การนำเอา Mind Map มาใช้ในการทำ Focus Group จะสามารถประยุกต์มาใช้ได้ในหลายๆ ขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ การใช้ Mind Map ในการวิเคราะห์ประเด็นที่จะทำ Focus Group ว่าจะเจาะเอาข้อมูลเรื่องอะไร ขั้นตอนของการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็น Participants ก็สามารถใช้ Mind Map มาวิเคราะห์แยกแยะได้ อีก พอถึงขั้นตอนของการวางแผนเพื่อทำ Focus Group ก็สามารถนำเอา Mind Map มาใช้ได้ อีก ถึงขั้นตอนการทำ Focus group ก็ใช้ Mind Map ในการบันทึกประเด็น หรือการคุมประเด็นของ Modulator ได้อีกขั้นตอน นี่เป็นหลักการคร่าวๆ ในการนำเอา Mind Map มาใช้ในการทำ Focus Group

เพื่อให้เห็นภาพของการนำ Mind Map มาใช้เราลองดูภาพตัวอย่างประกอบ
ภาพที่ 1 การใช้ Mind Map วิเคราะห์ประเด็นที่จะทำ Focus Group


        จากภาพประกอบ คงจะช่วยให้ผู้สนใจ เห็นภาพการนำ Mind Map มาใช้ในการวิเคราะห์ แยกแยะประเด็น ช่วยให้ความคิดงอกงาม ที่สำคัญ เรามองเห็นภาพรวม ของประเด็นปัญหาที่จะทำการ Focus Group ในแบบองค์รวม Holistic View ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องการมากสำหรับผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น Modulator และทีมงานทำ Focus groups

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ
       การใช้ Mind Map เป็นเทคนิคหนึ่งช่วยให้ลดเวลาในการเตรียมการ การทำงาน รวมทั้งการจัดการความคิด หากผู้ที่ใช้งาน Mind Map ไม่คล่องหรือ ถนัดที่จะบันทึก หรือวางแผนด้วยการเขียนอย่างอื่นก็ควรจะเลือกใช้ แต่หากทีมงานมีความพร้อมในการทำงาน เช่น มี Notebook มี คนคีย์ข้อมูลเร็วๆ รวมทั้งใช้งานโปรแกรม เขียน Mind Map เป็น ก็ยิ่งจะได้ประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ Mind Map เป็นอย่างยิ่ง

สนใจ ฝึกอบรม
   > เทคนิคการเป็น Modulator
   > เทคนิคการใช้งานโปรแกรมเขียน Mind Map
   > หลักการทำ Focus Group
ติดต่อได้โดยตรง กับ เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี
e-mail : dmindmap@yahoo.com หรือ 0-1661-8579
ด้วย Slogan ที่ว่า Your Dream , We Do

ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล
Glocalization Training Center