การประยุกต์ใช้ Mind Map
สำหรับผู้นำขบวนการภาคประชาชน เพื่อการเคลื่อนไหว
การปลุกม็อบ การเดินขบวน การประท้วง การเจรจา

นำเสนอเรื่องราวโดย เภสัชกร ประชาสรรค์ แสนภักดี M.P.H. (ม.เชียงใหม่)
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น (NGO)
นายกสมาคมเพื่อนผู้บริโภค จังหวัดขอนแก่น
ผู้จัดการศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล - ขอนแก่น

Mind Map เป็นเครื่องหมายจดทะเบียนทั่วโลก โดย Tony Buzan อาจารย์ที่ผมเคารพ

ภก.ประชาสรรค์ แสนภักดี

       บทความการประยุกต์ใช้ Mind Map หรือการเขียนแผนที่ความคิดสำหรับผู้นำขบวนการภาคประชาชน ในตอนนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแนวทางให้กับผู้สนใจศึกษา เรื่องของ แผนที่ความคิด อย่างจริงจัง เพื่อความเข้าใจ โดยเฉพาะในยุคสมัยปัจจุบัน ที่ขบวนการภาคประชาชน มีความเข้มแข็ง เราในฐานะผู้สนใจเครื่องมือ (tools) สามารถนำเอาแผนที่ความคิดมาใช้ประโยชน์ได้ ผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่ติดตาม และมีโอกาสได้เข้าร่วมเวทีภาคประชาชนบ่อยครั้งในหลายๆ โอกาส บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นคนปลุกม็อบเอง จึงถือโอกาสนี้ได้นำประสบการณ์ในการใช้ Mind Map มาช่วยงานพี่น้องที่ทำงาน เพื่อชาติ หรือเพื่อสังคม ในรูปแบบของการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement)
       เนื้อหาของบทความเรื่องแผนที่ความคิดฉบับนี้จะเหมาะกับใครบ้าง?
       1. ผู้นำม็อบที่มีความชำนาญ แต่ยังขาดเครื่องมือจัดการความคิด (คิดเก่งแล้ว แต่ยังจัดการความคิดไม่เป็นระบบ)
       2. ทีมงานม็อบ เช่น คนจดบันทึกการประชุม กรรมการแกนนำขบวนการ
       3. สมาชิกผู้เข้าร่วมกระบวนการหรือ ผู้ร่วมชุมนุม ร่วมการประท้วง
       4. นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ หรือคนที่จะต้องทำหน้าที่สรุปประเด็น สรุปบทเรียนจากการเคลื่อนไหว
       5. พิธีกร ทำหน้าที่บนเวที การเคลื่อนไหว
       6. แกนนำที่จะต้องขึ้นบนเวทีเพื่อการปลุกเร้าอารมย์ของประชาชน
       7. ผู้ที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับขบวนการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ชมทางบ้าน ประชาชนผู้ผ่านไปผ่านมา
       8. ตำรวจหรือผู้รักษากฎหมาย ที่จะต้องรักษาความปลอดภัยหรือการสลาย Mob
       9. แม่ค้า แม่ขาย หรือผู้ประกอบการขายอาหาร เครื่องดื่ม ให้กับ Mob
เนื้อหาของบทความประกอบไปด้วยเรื่องอะไรบ้าง?
       1. หลักการของ Mind Map
       2. การประยุกต์ใช้ Mind Map ในด้านต่างๆ ในกระบวนการ Mob
       3. ตัวอย่างประกอบ แผนที่ความคิดสำหรับ Mob
       4. หนังสืออ่านเพิ่มเติมเรื่องการเคลื่อนไหวภาคพลเมือง
       5. แนะนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อการเขียนแผนที่ความคิด สำหรับ Mob
       6. หลักสูตรการเขียนและใช้โปรแกรม Mind Map สำหรับแกนนำและคณะกรรมการ Mob
เขียนบทความฉบับนี้ขึ้นมาทำไม เป็นพวงหัวรุนแรงหรือเปล่า?
       ผมเขียนบทความฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อการสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เพื่อการเรียนรู้ จริงๆ ในใจต้องการบอกทุกคนว่า Mind Map เป็นเครื่องมือของมวลมนุษยชาติ ที่สามารถนำไปใช้ได้ ในหลากหลายสถานการณ์ ขอเพียงเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามันเป็นยังไง ใช้อย่างไร หากพร้อมแล้วเรามาเรียนรู้กันเลยครับ

ความหมายของ Mob และกระบวนการภาคประชาชน
       Mob หรือ ม็อบ ีความหมาย 1. โขลง, กลุ่มคน, ฝูงชน 2. ห้อมล้อม, กลุ่มรุมทำร้าย สำหรับภาษาอังกฤษจาก Dictionary Encarta หมายถึง n. a group of people who are involved in organized crime, or the world of organized crime -- Mobbed adj. crowded with people
       ในความหมายที่จะอ้างถึงในบทความฉบับนี้จึงขอนำเสนอการรวมกลุ่มของประชาชนในแบบสงบ ไม่ได้ต้องการสื่อว่าหมายถึงพวกสร้างปัญหา หรือสร้างความเดือดร้อน โดยจะให้หมายถึง การรวมกลุ่มเพื่อสันติ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชาติ

การเขียนแผนที่ความคิด (Mind Map) จำเป็นยังไงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Mob
        เราต้องยอมรับกันว่า การทำงานกับคนจำนวนมาก มีความคิดแตกต่างหลากหลาย เป็นเรื่องยากที่แกนนำจะต้องจัดการ มีงานหลายด้านที่แกนนำของผู้ชุมชน จะต้องดำเนินการ เรามาดูกันว่าแกนนำจะต้อง ทำอะไรบ้างในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจำนวนมาก มีภาคีจากหลากหลาย องค์กร เรียกได้ว่าเป็นพหุภาคี หรืออาจจะเป็นเครือข่ายพหุภาคี (Multiparty Netwotk) สิ่งที่แกนนำหรือผู้ประสานงานจะต้องทำประกอบ ด้วย
       1. การวางแผนการเคลื่อนไหว (Movement planning)
       2. การจัดการการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective meeting)
       3. การออกแบบทีมงานเพื่อการจัดเวที และการเปิดการชุมนุมกลางแจ้ง (Team and Staff Design)
       4. การวางตัวแกนนำเพื่อการเร้าอารมย์ และปลุกกระแสผู้ชุมนุม (Advocrate and Speaking plan)
       5. การเจรจาต่อรองกับภาครัฐ หรือฝ่ายตรงข้าม (Negotiation)
       6. การเตรียมตัวให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน (Media Interviewing)
       7. การวางแผนกิจกรรมบนเวที และการเดินขบวนเพื่อการเรียกร้องหรือการปิดล้อม (Activities agenda setting)
       8. การสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหวแบบวันต่อวัน และเมื่อเสร็จสิ้นการเคลื่อนไหว (After Action Review - AAR)
       9. การวางแผนออกแถลงการณ์การเคลื่อนไหว (Statement planning)
       10. การบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดของกลุ่ม ของเครือข่าย (Network resource planning)
       11. การวางแผนการผลิตสื่อของกลุ่ม เครือข่าย (Media planning)
       12. การใช้ Mind Map สำหรับผู้ทำหน้าที่พิธีกร (Spokeperson for mob)
       13. การสรุปบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อเก็บไว้ใช้ในอนาคต (Lesson Learned of Movement)

การวางแผนการเคลื่อนไหว (Movement Planning)
       การวางแผนการเคลื่อนไหว จะเริ่มจากการประชุม ของแกนนำ เพื่อการวิเคราะห์สถานการณ์ การประเมินสถานการณ์ ร่วมกัน แล้วหาข้อสรุปเพื่อการเคลื่อนไหว ในขั้นตอนนี้ Mind Map จะช่วยให้การประชุม หาประเด็น และได้ข้อสรุป รวมทั้งการมองภาพรวมของสถานการณ์ (The Whole) ได้ชัดเจน เพื่อการทำงานอย่างครบถ้วน Mind Map เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมและภาพย่อย ประกอบกันไป โดยสรุปก็คือ การใช้ Mind Map ในขั้นตอนนี้ในการทำสิ่งต่างๆ ดังนี้คือ
       1) ใช้สรุปสถานการณ์ เพื่อประเมินสถานการณ์ ประเมินเหตุการณ์ โดยแผนที่ความคิดแผ่นแรกจะตอบคำถามต่างๆ ดังนี้ ปัญหาหลักๆ ที่ต้องเคลื่อนไหวคืออะไร (Problems) ใครเป็นองค์กรที่ต้องรับผิดชอบ ปัญหา ในแง่องค์กร และในแง่ตัวบุคคล ได้มีความพยายามแก้ปัญหาหรือยัง หากมีอย่างไร และอะไรที่ยังต้องแก้ไข ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน ผู้เสียหายอะไรบ้าง อย่างไรบ้าง
       2) วางแผนการเคลื่อนไหว ในด้านต่างๆ ประกอบด้วย เครือข่าย จะชูประเด็นอะไรเป็นหลักเพื่อความชอบทำในการเคลื่อนไหว จะใช้รูปแบบอะไรในการเคลื่อนไหว จะทำหรือดำเนินการที่ใด กลุ่มเป้าหมาย ประชาชน ภาคีเครือข่ายจะเป็นใครบ้าง จะต้องใช้งบประมาณมากขนาดไหน มาจากไหน จะต้องเตรียมทีมงาน อย่างไร จัดกรรมการอย่างไร
       Mind Map จะเข้าไปแทรกในทุกขึ้นตอนของกระบวนการวางแผน ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุม การนำเสนอต่อที่ประชุม การสรุปรายงานการประชุม การเจรจาของแกนนำ ที่มาจากหลากหลายภาคส่วนของสังคม
download mind map แผนแรกในรูปแบบ pdf file click
แผนที่ 1 การวางแผนการเคลื่อนไหว
ข้อสรุปในขั้นตอนการวางแผน เราจะใช้ Mind Map ในการสรุปภาพรวม การแยกแยะประเด็น ที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน ในเวลาอันจำกัด จากแผนที่ความคิดที่นำเสนอประกอบ เป็นเพียงบางส่วน ที่ได้จากการวิเคราะห์ ในสถานการณ์จริง จะมีประเด็นปลีกย่อยอีกมากมาย สิ่งสำคัญคือ ผู้นำหรือแกนนำจะต้องชำนาญในการสรุป และจับประเด็นจากเวทีประชุม เพื่อนำมาเขียนมันออกมาในแผนที่ความคิด สำหรับแผนที่ความคิดแผ่นนี้ที่ประกอบตัวอย่าง ผู้เขียนใช้โปรแกรม ConceptDraw ในการ mapping ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ผู้เขียนใช้ในการทำวิทยานิพนธ์เรื่องเครือข่ายทางสังคม (Social Network) ผู้สนใจ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.conceptdraw.com

การจัดการประชุมของเครือข่ายแกนนำอย่างมีประสิทธิภาพ (Effective meeting)
       การประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชน และการทำ Mob ในมุมมองของผู้เขียน มองว่า หากการประชุมมีประสิทธิภาพ แล้ว แกนนำ หรือผู้ประสานงาน หรือผู้นำเครือข่ายจะทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ สามารถนำพลังของ Mob หรือประชาชนออกมาใช้ได้เต็มกำลัง จะมียุทธวิธีในการเคลื่อนไหวที่เป็นระบบ การประชุม จะประกอบไปด้วยการประชุมหลายระดับ ในการเคลื่อนไหว บางอย่างต้องการที่ประชุมที่เป็นความลับสุดยอดก่อนจะประกาศจุดยืนของการเคลื่อนไหว เรามาดูกันว่า ในการเคลื่อนไหว (movement) แต่ละครั้ง ของภาคประชาชน มีการประชุมอะไรบ้างที่สำคัญ และ Mind Map จะเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร การประชุมของ Mob ประกอบด้วย
       1) การประผู้แทนองค์กรเครือข่ายที่เข้าร่วมเวที (head of organization) เป็นการประชุมเพื่อกำหนดแนวทาง การประชุมเพื่อสำรวจความพร้อม การประชุมเพื่อแนะนำตัวเอง และองค์กร
       2) การประชุมคณะทำงาน (staff) ฝ่ายจัดการ เป็นการประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงานตามแผนงาน จะเป็นงานแรงงาน งานธุรการ งานพิธีการ งานรักษาระบบ งานประสานงาน
       3) การประชุมแกนนำสูงสุด (Higher leader) เป็นการประชุมเพื่อตัดสินใจ (decision making) การประชุมเพื่อเตรียมแถลงการณ์ การประชุมเพื่อการเจรจาต่อรอง การประชุมเพื่อประเมิน สถานะการณ์ ของการต่อสู้
       4) การประชุมร่วมกับฝ่ายตรงข้ามของการเคลื่อนไหว เช่น การประชุมสมานฉันท์ การประชุมเพื่อหาข้อยุติ จากทุกภาคส่วน การประชุมในประเด็นนี้จะเป็นไปแบบต่อรอง หรือเผชิญหน้า แสดงจุดยืน ของตัวเอง ของแต่ละภาคส่วน
       5) การประชุมคณะทำงานย่อย แต่ละด้าน เช่น คณะทำงานประชาสัมพันธ์ คณะทำงานด้านความปลอดภัย คณะทำงานด้านงบประมาณ เป็นการประชุมเฉพาะเรื่องที่ต้องประสานงานกับ แกนนำหรือคณะกรรม การกลางของการเคลื่อนไหว
       ทั้งหมด 5 ประเด็นนี้เป็นเพียงบางส่วนที่ผู้เขียนเคยเห็น และนึกได้ โดยเนื้อแท้ของการทำการเคลื่อนไหว จะมีมากกว่านี้อีกหลายการประชุม เช่น การประชุมเพื่อการแตกหัก (Breakdown) การประชุมเพื่อประกาศชัยชนะของการเคลื่อนไหว (Chaiyo meeting) แต่ก็คงจะเป็นประเด็นย่อยๆ ออกไป ซึ่งก็อาศัยหลักการใหญ่ๆ หลักๆ เดียวกัน (theme) Mind Map แผ่นแรกที่แกนนำ หรือผู้ริอ่านจะนำ Mob ควรจะเรียนรู้ และศึกษาให้แม่นก็คือ แผนที่ความคิดเรื่องของ MEP และ PEM มาดูกันว่าเวลาประชุม Meeting เราต้องพิจารณาอะไรบ้าง

PEM และ MEP มีอะไรบ้างในการจัดการประชุมต่างๆ ของภาคประชาชน ในการเคลื่อนไหว
People : ทุกครั้งที่จะประชุมจะต้องชัดเจนว่าใครบ้างเข้าร่วมการประชุม เพราะมันจะเกี่ยวข้องกับ การตัดสินใจ หรือชั้นของความลับ นอกจากจะสนใจประเด็นใคร ก็ต้องสนใจเรื่องจำนวน ด้วย เนื่องจากในการประชุมที่มีประสิทธิภาพ นั้น จำนวนต้องไม่มากเกินไป เช่น 20 คน เพื่อการชี้แจง 5 คนเพื่อตัดสินใจ เป็นต้น
Environment : บรรยากาศแวดล้อม ของการประชุม การประชุมบางเวทีต้องการความสงบ บางเวทีต้องการความสดชื่น บางเวทีต้องการสิ่งกระตุ้นเร้าอารมย์คนประชุม เช่น ประชุมท่ามกลางแรงกดดัน ประชุม ท่ามกลาง ข่าวรือ หรือกระแสข่าวจากการปล่อยข่าวของฝ่ายตรงข้าม การประเมินสิ่งแวดล้อม อย่างเข้าใจจึงนำไปสู่การประชุมที่มีประสิทธิภาพได้
Methods : วิธีการในการประชุม วิธีการในการประชุมในที่นี้ผู้เขียนหมายถึง วิธีที่จะเลือกใช้ในการประชุม จะเป็นการระดมความคิดเห็น (IdeaStorming) หรือการระดมสมอง (Brainstorming) หรือการเล่าเรื่อง (Storytelling) การถกอภิปราย (Group discussion) หรืออีกหลายๆ แบบการเลือกใช้วิธีการต้องเข้าใจวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียด ข้อดี ข้อเสียของวิธีการ ใช้ให้เป็น แล้วการประชุมจะมีประสิทธิภาพ

Media : สื่อที่ใช้ ในที่นี้ที่เกี่ยวกับ การประชุมของม็อบ จะหมายถึงใช้อะไรบ้าง เช่น การใช้สื่อเสียง สื่อคอมพิวเตอร์ เพื่อการนำเสนอ สื่อ Multimedia เพื่อการศึกษาบทเรียนจากเหตุการณ์จริง การประยุกต์ใช้สื่อ ที่หลากหลาย ตามบริบท (context) ของการประชุมจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพ ปัจจุบันสื่อผสมมีพบเห็นได้ อย่างกรณีของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในครั้งนี้ (Anti Thaksinomics) จะเห็นการใช้สื่อที่ครบวงจร มีการใช้ VCD ในการประเมินเหตุการณ์ มีการใช้ VDO Clip นำไปสู่การฟ้องร้อง การใช้สื่อบุคคล เพื่อการประชุม การแถลงข่าว ผู้เขียนขอให้ลองศึกษาเรื่องของสื่อ (media) ให้เข้าใจ แล้วมันจะช่วยการประชุม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเรื่องของเรา สื่อ Mind Map ที่เป็น digital Mind Map คือสื่อที่น่าใช้มากๆ เช่น การใช้ Digital Mind Map ในการนำเสนอ (Presentation Mode) การใช้เพื่อการสรุปการประชุม การใช้เพื่อ การสื่อสาร กับผู้เข้าร่วมประชุม (handout)
Equipment : อุปกรณ์ ในที่นี้จะหมายถึงอุปกรณ์โสตทัศนูปกรณ์ ต่างๆ เช่น เครื่องแสง เครื่องฉายภาพ กระดาน filpchart ปากกาสี Notebook Projector และอื่นๆ อีกหลายๆ อัน หากสิ่งเหล่านี้มีอย่างพร้อม ครบ การประชุมก็จะมีประสิทธิภาพ เช่น การบันทึกการประชุมด้วย Mind Map จากนั้น Printout ออกทางเครื่องพิมพ์ นำไปถ่ายเอกสาร หรือ โรเนียว แจกนักข่าว โอ้ หากได้อย่างนี้จะเป็นสุดยอด ม็อบเลย เชื่อสิ
Place : สถานที่ สถานที่ในการประชุม เป็นสิ่งสำคัญ บางที่ร้อนมาก ขาดสมาธิ บางที่เสียงดัง บางที่กว้างใหญ่เกินเหตุ เลือกสถานที่ให้เหมาะกับการประชุม แล้วจะประสบความสำเร็จ เรื่องนี้ขอตินิดหนึ่ง มีห้องประชุม หลายๆ ที่เลือกสีม่านไม่เป็น ทำให้มันรบกวนสายตา เวลาฉาย Projector แล้วมองไม่เห็น ยังไงใครรับผิดชอบเรื่องห้องประชุมชข่วยพิจารณาด้วย สถานที่อีกประเภทหนึ่งก็คือ กลางท้องถนน (อีสานเรียก เดิ่น) อาจจะต้องหาเสื่อมารปูเพื่อความสบายตัวนะ
       โดยสรุปแล้ว Mind Map จะช่วยในการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพของเครือข่าย ภาคประชาชน หรือการเคลื่อนไหว โดย Mind Map จะเริ่มได้ใช้งานตั้งแต่การวางแผนการประชุม (meeting plan) โดยจะมีการ แตกประเด็นต่างๆ ออกมา เช่น ใครร่วมประชุม ประชุมที่ไหน เวลาใด เรื่องอะไร วาระการประชุม ก่อนหลัง ต้องเตรียมอุปกรณ์อะไร ใครทำหน้าที่อะไรบ้างในการประชุม ประธาน เลขา facilitator หรืออื่นๆ และระหว่างการประชุม Mind Map ก็ใช้ในการนำเสนอ (Presentation ) ต่อที่ประชุม เพื่อให้ทุกคนเห็นภาพรวมของประเด็น และลงไปในรายละเอียดปลีกย่อย ในฐานะประธานการประชุมก็ใช้ Mind Map ในการ คุมประเด็น การประชุม เพื่อไม่ให้ออกนอกประเด็น ส่วนคนทำหน้าที่เลขาก็บันทึกเป็น Mind Map นี่เป็นตัวอย่างการใช้งานเบื้องต้น สำหรับ Mind Map ที่เกี่ยวข้องที่ใช้ประกอบการเรียนรู้ในหัวข้อนี้ ก็มีเรื่องของ การระดมสมอง (Brainsotrming) pdf file click และ บรรญัติ 10 ประการของผู้ดำเนินการประชุม click pdf file/ การจัดการประชุมด้วย Mind Map (ภาษาอังกฤษ) pdf file click download

การออกแบบโครงสร้าง และทีมงานด้วย Mind Map
       การออกแบบโครงสร้างทีมงานหรือเครือข่าย เพื่อการเคลื่อนไหวที่มีพลัง หากได้มีการประยุกต์ใช้เครื่องมือคุณภาพอย่าง Mind Map มันจะช่วยให้การบริหารจัดการ ขบวนการได้อย่างดี มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ การควบคุมกำกับ การติดตามตรวจสอบทำได้โดยง่าย เรามาดูกันว่า การเคลื่อนไหว ของภาคประชาชน หากจะเอาหลักการ Mind Map ในแบบของผังภูมิมาใช้จะเป็นยังไง ... เริ่มต้น แกนนำจะต้อง มีการประชุมหารือ วางผังโครงสร้างการทำงานร่วมกัน โดยเอาเป้าหมายตั้งไว้ (Goal) เรียกว่าเป็น Begin with the End in Mind มองภาพสุดท้ายก่อนการเริ่มต้น เขียนเป้าหมายงานไว้ที่ปลายทาง กรณีนี้ก็คือ Subject of Mind Map หรือ บริเวณหัวปลานั่นเอง จากนั้นก็ตอบคำถามว่า เครือข่ายต้องทำอะไรบ้างหลักๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายสุดท้าย จากนั้นลงไปในรายละเอียดว่า มีงานย่อยๆ อะไรในแต่ละงานหลัก ที่ต้องทำ ก็จะได้งานที่เป็นแบบ Work Breakdown Structure ออกมา ดูภาพประกอบ(เป็นเพียงตัวอย่าง ของจริงจะมีรายละเอียดมากกว่านี้)
fish
    จากผังก้างปลา ท่านผู้อ่านคงจะสัมผัสได้ถึง การประยุกต์เรื่องของผังก้างปลามาใช้กับงานภาคประชาชน ในการเคลื่อนไหว แต่ละแขนงแทน ตำแหน่ง หรืองานรับผิดชอบ ที่สำคัญ ๆ ในการเคลื่อนงานของเครือข่าย สิ่งสำคัญคือ การมีส่วนร่วมในการพิจารณาร่วมกันของทุกคน เพื่อให้มีความครอบคลุมเนื้องานให้มากที่สุด การเขียนแผนภูมิแบบนี้ ใกล้เคียงกับหลักการของ Mind Map เป็นอย่างมาก สำหรับแผนผังตัวอย่าง ผังก้างปลาที่นำเสนอนี้ เป็นตัวอย่าง ที่สร้างโดย โปรแกรมคอมพิวเตอร์ สำหรับการเขียน Mind Map โปรแกรมชื่อ MindMapper รุ่นล่าสุด version 5.0 ซึ่งเขียน ผังก้างปลาได้อย่างง่ายดาย แต่คนเขียนควรจะเข้าใจหลักการของผังก้างปลาด้วยจะยิ่งได้ประโยชน์ สนใจศึกษาการใช้งาน โปรแกรม ก็ลองเข้าไปดูที่ www.mindmapper.com (สำหรับผู้สนใจ อบรม ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากลก็ยินดีให้บริการ โดยเฉพาะ NGO หรือภาคประชาชน ฟรี) นอกจากจะวิเคราะห์และออกแบบงาน ในแบบผังก้างปลา แล้ว บางท่านอาจจะ ชอบแบบผังองค์กร หรือ Organization Chart ซึ่งจะดูง่ายขึ้น เราก็สั่งให้โปรแกรมทำงานง่าย ๆ ภาพที่ได้จากข้อมูลเดียวกันจากปลาตัวข้างบนเมื่อเปลี่ยนเป็น Organization Chart จะได้ดังภาพ
orgchart

ทั้งสองรูปแบบนี้ สลับไปมาได้ ที่นำเสนอนี้ ไม่ยากเกินไปที่แกนนำภาคประชาชน จะนำมาใช้งานนะจะบอกให้ ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรกู้ชาติ ที่สนามหลวง หรือ กลุ่มจตุจักร สวนลุม ก็ตาม เอ้าลองดูสิ การออกแบบงาน หรือการวางผังโครงสร้างของงาน อย่างเป็นระบบจะทำให้การทำงานอื่นๆ ที่เหลือง่าย ไม่ยุ่งยาก กำกับได้อย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญ หากจะต้องนัดชุมนุมครั้งต่อๆ ไปก็ยิ่งง่ายขึ้นไปอีก เรียกได้ว่ามีการ จัดการความรู้ของเครือข่ายทางสังคม (Knowledge Management- KM ) เรียนรู้จากการปฎิบัติ คือ สุดยอดเครือข่าย เอาเรื่องนี้เอาไว้เท่านี้ สิ่งที่อยากฝากก็คือ ให้ไปเรียนรู้เรื่อง WBS หรือ Work Breakdown Structure เพิ่มเติม เรียนรู้ เรื่อง ผังก้างปลา (Ishikawa) เรียนรู้เรื่องการออกแบบ Organization Chart เวลาจะเคลื่อนงานแต่ละเรื่องก็เริ่มต้นการออกแบบโครงสร้างอย่างเป็นระบบ แบบนี้ รับรอง แกนนำ Mob ทำงานง่าย หากทำอยู่แล้วก็อย่าว่ากันนะไม่บังอาจจะแสดงความอาจหาญไปสอน

การวางตัวแกนนำเพื่อการเคลื่อนไหว
       การวางตัวแกนนำในการเร้าหรือการปลุกกระแสม็อบ เป็นงานที่จะต้องให้ความสำคัญละเอียดอ่อน เนื่องจากแกนนำแต่ละคน มีผลต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่น รวมทั้ง การเป็นกระแสของสื่อ หรือ มีความน่าสนใจ จากสื่อ ประวัติของแกนนำก็มีความสำคัญ เช่น คุณสนธิ เวลาจะไปไหนมาไหนสื่อให้ความสนใจ พลตรี จำลอง ศรีเมือง พูดแต่ละครั้งมีนัยทางการเปลี่ยนแปลง ผู้ประสานงานฯ นายสุริยศัย ให้สัมภาษณ์ หมายถึงข้อสรุป เป็นต้น (ยังไงก็ขอยกตัวอย่างจากการเคลื่อนไหวในครั้งประวัติศาสตร์นี้นะจะได้สนุกในการอ่าน) เรามาดูว่า Mind Map จะช่วยให้คุณสุริยศัย ทำงานในฐานะผู้ประสานงานเครือข่าย ง่ายขึ้น และมี ประสิทธิภาพได้อย่างไร
       Mind Map จะช่วยให้การวิเคราะห์บุคคล วิเคราะห์เป้าประสงค์ของงาน การเคลื่อนไหว วิเคราะห์เป้าหมายของเวทีปราศัยแต่ละครั้งได้ครอบคลุม มองภาพรวมของคนและงาน เชื่อมโยงงานต่างๆ เข้าด้วยกัน ใช้เวลาน้อยในการวางแผน เรามาดูตัวอย่างกัน

จากภาพเป็นตัวอย่างการวางแผน และการวิเคราะห์แกนนำ ในการปราศัย การใช้หลักการของแผนที่ความคิด เพื่อวางแผนทีมงาน จากภาพที่นำเสนอ มันทำให้เรามองเห็นภาพรวมของงาน ไม่ทำงานซ้ำซ้อนกัน แบ่งงานกันทำ แบ่งเป้าหมาย แบ่งประเด็นการทำงาน เชื่อผมนะ Mind Map เป็นเครื่องมือที่มีพลังมันจะช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ธรรมดาให้เหนือความคาดหมาย หากเราเปรียบเทียบ พันธมิตรสนามหลวง กับ กลุ่มคนจนสวนจตุจักร สวนลุม เราจะเห็นการวางแผนเรื่องคนที่แตกต่างกันมาก (ผมขอเน้นว่า ไม่ได้นำเสนอเรื่องของระดับการศึกษา หรือระดับความรู้) ของเวทีหนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าใคร นำเสนอประเด็น เดียวกัน ซ้ำซ้อนกัน แบบนี้คนฟังเบือง่าย แต่อีกเวทีหนึ่ง มีเรื่องให้ติดตาม และตื่นเต้นอยู่ตลอด มันเป็นเรื่องของการจัดการ เรื่องของการวางแผน เรื่องของงานออกแบบความคิดโดยเฉพาะ ฝากทั้งสองแกนนำ ทั้งคนไล่นายก และคนเชียร์ทักษิณ ลองเอาหลักการ แผนที่ความคิดของผมไปใช้ เพราะเรายังต้องต่อสู้กันอีกหลายยก ภาพแผนที่ความคิดที่ยกตัวอย่างนี้เขาเรียกว่า Hierachical Thinking คือ การคิดแบบเป็นช่วงชั้น

การเจรจาต่อรองกับรัฐบาลหรือฝ่ายตรงข้าม (Negotiation)
       การนำแผนที่ความคิดไปใช้ในการเจรจาต่อรอง เพื่อการหาข้อยุติร่วมกัน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ MInd Map ช่วยได้เป็นอย่างดี เพราะแผนที่ความคิด มันจะช่วย ให้ทั้งสองฝ่ายมองภาพเดียวกัน ใช้กรอบคิดเดียวกัน ในการเจรจาต่อรอง มาดูกันว่า Mind Map จะมีบทบาทอะไรบ้างในเวทีของการเจรจา ในการเจรจา มีขั้นตอนสำคัญต่างๆ ดังนี้
   - การกำหนดตัวบุคคล หรือองค์กรเข้าร่วมการเจรจา (Person and Organization)
   - การกำหนดวิธีการในการเจรจา (Method)
   - การกำหนดหัวข้อ และประเด็นการเจรจา (Motion /Theme)
   - การกำหนดเงื่อนไขการเจรจา เช่น การถ่ายทอดสด การประชุมลับ การเปิดเวทีสาธารณะ เป็นต้น
การกำหนดรายละเอียดเบื้องต้นเหล่านี้ เชื่อไหมว่า เสียเวลาคุยกันนาน ต่อรองกันนาน แต่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ คุยกันว่าจะคุยกันอย่างไร สำคัญมากกว่า คุยเรื่องอะไร (How to talk important than what to talk) หากใช้ Mind Map ช่วยในประเด็นที่นำเสนอนี้ มันง่ายมาก ไม่เชื่อถาม จอร์จดูได้ หรือไม่ก็ มาม่าซองนี้นี่เอง 555 เอามาดูกันว่า Mind Map ทำงานยังไง แผนที่ความคิดจะช่วยให้ผู้ร่วมวางแผนการเจรจา เห็นรายละเอียดพร้อมๆ กัน เห็นภาพเดียวกัน
   - Mind Map แตกรายละเอียด Node สำคัญๆ จากนั้นลงรายละเอียด พร้อมเส้นเชื่อมโยงความสัมพันธ์ เน้นจุดสำคัญของแผนที่ความคิด
   - หากที่ประชุมมีความคิดหรือข้อเสนอที่แตกต่าง หรือจะออกนอกประเด็นก็ดูจาก Mind Map แผ่นกลางเป็นหลัก
ดูภาพประกอบแผนที่ความคิด (Example mind map)

มันง่ายและเข้าใจร่วมกันได้ดีกว่าการเขียนจากบนลงล่าง ซ้ายไปขวา เป็นบรรทัดว่าไหม เวลาที่ต้องเสียไปในการหาข้อสรุปร่วมกันมันจะลดลงมาก ที่เสียเวลาไม่ได้ข้อสรุปส่วนหนึ่งผมว่าเพราะไม่ได้ใช้ Mind Map ในการทำงาน (ว่าไหม อิอิ 555) เอ้าลองเอาไปใช้ดู จากภาพ มันจะทำให้เรารู้ว่ามีส่วนไหนที่ขาดหรือเกินที่จะต้องปรับปรุงนั่นเอง หากใช้ Mind Map จนเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ รับรองระบบการทำงาน ทั้งระบบ จะเป็นไปอย่างมืออาชีพ และมีประสิทธิภาพ


แผนที่ความคิดที่เกี่ยวข้อง (related mind map)
Hot!!!!
>> แผนที่ความคิด "Q ทั้ง 6 ของนายกฯทักษิณ ชินวัตร" pdf file mind map (1p) | | click
>> สามคีย์แมน "จำลอง- ทักษิณ - สนธิ" ตัวชี้วัดแรงขับเคลื่อนประเทศไทย pdf file mind map (1p) | | click

รายละเอียดจะนำมาเขียนให้อ่านต่อไป..... โปรดติดตาม รับรองสนุกได้สาระ รวมทั้งเอาไปใช้ได้จริง

รอคิดตามบทความฉบับพิเศษ ต่อเนื่องจากเรื่องนี้ "การประยุกต์ใช้ Mind Map ในกระบวนการปฎิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ" (การรวบรวมความคิดเห็น การทำเวทีสาธารณะ การประชุมชี้แจง การสรุปบทเรียน และอีกหลายๆ อย่าง เชื่อผม Mind Map จะช่วยให้การทำงาน ที่ยุ่งยากง่ายขึ้น) อย่าลืมติดตาม ที่นี่ที่เดียว ที่นำ Mind Map มาใช้เพื่อชาติจริงๆ

เชื่อมั่นและศรัทธา
เภสัชกร ประชาสรรณ์ แสนภักดี
แกนนำ และวิทยากร สถาบันพัฒนาการเมืองภาคประชาชน จังหวัดขอนแก่น
e-mail : prachasan@gmail.com