การถ่ายภาพจากมุมสูงบน Helicopter
Bird Eyeview Photography

ภก.ประชาสรรณ์ แสนภักดี
บทความ/ภาพประกอบ

โดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี
ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล

       การถ่ายภาพจากมุมสูง เป็นประเภทการถ่ายภาพอีกแบบหนึ่งทีนักถ่ายภาพหลายๆ คนใฝ่ฝันจะมีโอกาสสักครั้งหนึ่งในชีวิตจะได้มีโอกาสขึ้นไปถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นจาก Balloon หรือจาก เฮลิคอปเตอร์ รวมทั้งจากเครื่องร่อน Paramotor หรือแม้แต่จากหน้าต่าง เครื่องบิน โดยสาร ทั้ง Low cost และ ราคาปกติ (อิอิ) ผมมีข้อแนะนำมาฝากช่างภาพทุกท่านครับ เป็นประสบการณ์การถ่ายภาพจากมุมสูง โดยการขึ้นไปกับเฮลิคอปเตอร์ ก่อนอื่นต้องเล่าให้ฟังก่อนว่า ผมเคยขึ้นไปถ่ายภาพ อะไรมาบ้าง ครั้งแรกที่ขึ้นไปถ่ายภาพ ผมได้รับมอบหมาย (ในฐานะช่างภาพรับเชิญ - เพราะอุปกรณ์ถ่ายภาพพร้อม) ให้ขึ้นไปถ่ายภาพ งานรณรงค์ รวมพลังสร้างสุขภาพ ที่จังหวัดขอนแก่น บริเวณสวนสาธารณะ 200 ปี บึงแก่นนคร จ.ขอนแก่น ครั้งที่สอง ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ขึ้นไปถ่ายภาพ เหตุการณ์ บันทึกประวัติศาสตร์ งาน วิ่ง ขอนแก่นมาราธอน นานาชาติ ครั้งที่ 1 จากนั้นก็ได้ขึ้นไปบันทึกภาพในปีที่ 2 ของการแข่งขัน และขึ้นไปถ่ายภาพ การรวมพลังสร้างสุขภาพ เหลืองฟ้า ในปีที่สอง ของจังหวัดขอนแก่น
       ก่อนอื่นเรามาดูหลักการถ่ายภาพจากมุมสูงบนเฮลิคอปเตอร์กันก่อนว่า มีหลักการอย่างไร ในการถ่ายภาพจากมุมสูง สิ่งที่สำคัญ เวลาถ่ายภาพบางครั้งอาจจะต้องให้มองเห็นเส้นขอบฟ้า ด้วย เพื่อให้เห็นว่า เป็นการถ่ายภาพจากมุมสูง อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องของมุมกล้องในการถ่ายภาพ ให้เลือกนั่งอยู่ในทิศทางที่ตรงข้ามกับแสงแดดส่อง เพราะหากหันเข้าหาแดด เราจะถ่ายภาพยากมาก ที่แนะนำอย่างนี้เพราะว่า หากเราขึ้นเฮลิคอปเตอร์ พร้อมกับ กล้องถ่ายภาพ หรือ VDO ของสื่อมวลชน นักบินจะให้ความสำคัญกับช่างภาพสื่อมวลชน จะหมุนตัวเครื่องไปบังแดดให้กับสื่อมวลชน ส่วนตัวเรารับแดดเต็ม ๆ ไม่ได้ทั้งภาพ แถมผิวเสียอีก
       อุปกรณ์ที่ควรจะนำขึ้นไป เอาเรื่องแรกก่อน หากใช้ฟิล์ม ก็ควรจะเลือกที่ความไวแสงสูง ISO 400 ขึ้นไป เพื่อให้กล้องของเรามี Shutter Speed สูงขึ้น เนื่องจาก เครื่องจะสั่นตลอดเวลา ทำให้ภาพที่ออกมาเบลอ หากตั้ง Speed ต่ำเกินไป ดังนั้นกล้องดิจิตอล หากสามารถตั้งได้ก็ให้ตั้ง Sensitivity สูง ๆ เช่น 400 หรือ 800 ซึ่งเราสามารถ ปรับตั้งได้ ในกล้องดิจิตอลที่ประสิทธิภาพสูง หรือ D SLR จะช่วยให้ Speed ของกล้องสูงขึ้นได้ ลดการไหวของกล้อง ในส่วนของเลนส์ถ่ายภาพ หากเลือกได้ ก็ควรจะเลือกเป็นเลนส์ซูม (Tele Zoom ) เพือลดเวลาที่จะต้องถอดเปลี่ยนเลนส์ เพราะบางเวลาจังหวะมุมดีๆ แต่หากเรามาเสียเวลาในการถอดเปลี่ยนเลนส์ มันก็แย่ เพราะมุมดีๆ บางทีเครื่องไม่วนกลับไปที่เดิมอีก เลนส์อีกประเภทหนึ่งที่อาจจะต้องเตรียมขึ้นไปด้วยก็คือ Lens มุมกว้าง อย่างครั้งหนึ่งที่ผมขึ้นเครื่องไปถ่ายภาพบึงแก่นนคร ผมเตรียม เลนส์ 17 มม Tamron ขึ้นไปด้วย ปรากฎว่าได้ภาพมุมกว้าง แบบน่าสนใจมาก เก็บภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ ทั้งบึงแก่นนคร และเมืองขอนแก่น และชุมชนโดยรอบบึงแก่นนคร
       กล้องถ่ายภาพควรจะเตรียมขึ้นเครื่องไปด้วยสักสองตัว เพื่อสำรอง หากอีกตัวหนึ่งเกิดปัญหา ก็จะได้ใช้กล้องสำรองที่นำขึ้นไปด้วย รวมทั้งหากเป็นการนำกล้องฟิล์มขึ้นไป ก็ควรจะใส่ฟิล์มไว้ทั้งสองตัว ไม่ต้องไปเสียเวลาเปลี่ยนฟิล์ม สำหรับคนที่ใช้กล้องดิจิตอล ก็ควรจะเตรียม Card บันทึกขึ้นไปให้เพียงพอ อย่าให้ Card ไปเต็ม หากเป็นไปได้ สำรองขึ้นไปอีกสักแผ่น สัก 512 MP โดยในการถ่ายภาพหากกล้องที่ใช้งาน มีระบบ RAW file หรือ การบันทึกแบบดิบๆ ก็ให้บันทึก เพื่อนำภาพกลับมาแก้ไข ด้วย Software ได้ด้วย แต่อาจจะกินเนื้อที่บน Card มากขึ้น ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ผม แนะนำให้หาแผ่นบันทึก สำรองขึ้นไปด้วย
       การแต่งกาย ในการขึ้นไปถ่ายภาพ หากเลือกได้ให้สวมเสื้อที่มีกระเป๋ามากๆ เช่น เสื่อกั๊ก ไม่ควรจะนำกระเป๋า ขึ้นไปบนเครื่องให้เกะกะ จะได้คล่องตัวในการทำงาน เก็บสิ่งของในกระเป๋าเสื้อให้เรียบร้อย
       การป้องกันตัวเอง ต้องหาสำลี หรือที่อุดหูไปด้วยเนื่องจากบนเฮลิคอปเตอร์จะเสียงดังมากตลอดเวลาที่ขึ้นไปถ่ายภาพ หากหาชนิดเหมือนหูฟัง ปิดหูเลยได้ก็เป็นการ ดีจะช่วยสุขภาพหูของเราได้เป็นอย่างดี ดื่มน้ำให้มากๆ และเข้าห้องน้ำปัสสาวะก่อนขึ้นเครื่อง มีอยู่ครั้งหนึ่งผมอยู่บนเครื่องแล้วปวดฉี่มาก ทำอะไรไม่ได้เลย ภาพก็ถ่ายเสร็จแล้ว รอแต่เวลาที่นักบินจะพาแวะ สี่แยกไปแดง อิอิ 555 !!!
       โดยสรุปในการถ่ายภาพจากมุมสูง ให้ตั้งความเร็วของกล้อง Shutter Speed ไว้ให้สูงๆ โดยดูเลนส์ที่เราเลือกใช้งานด้วย เช่นเรานำเลนส์ 28-200 มม ขึ้นไปใช้งาน ความเร็วที่เราจะเลือกใช้ก็ต้องไม่ต่ำกว่า 1/200 วินาที หรือจำง่าย ๆ คือ 1/ความยาวเลนส์ (200) หากจะดีตั้งให้ได้ 1/500 อะไรประมาณนั้นรับรองลดการสั่นไหวได้ หากสั่นไหวของภาพจะเห็นชัดเจนเมื่อภาพที่เราถ่ายมานำไปขยายหรือ Zoom ดูด้วยโปรแกรมดูภาพอย่าง ACDSee
       เรื่องที่สำคัญมาก ของช่างภาพก็คือ การพูดคุยกับนักบิน จะต้องสื่อสารกันให้เข้าใจว่าเราต้องการอะไร ยิ่งอยู่บนเครื่องที่ลอยอยู่บนท้องฟ้า ฟังเสียงยากมาก นักบินและผู้ช่วยนักบินเขาใช้วิทยุสื่อสาร แต่ของเราใช้การตะโดน รวมทั้งใช้ภาษามือ บางครั้งเราบอกให้วนกลับ เขาเข้าใจว่า บินกลับ เลยอดเก็บภาพสวยๆ ที่ต้องการเลย หรือบางครั้งเราอยากจะให้เขา หยุดเครื่องอยู่กับที่ (ภาษานักบินเรียกว่า ฮอบ) อยู่กับที่ ซึ่งจะต้องใช้ทักษะ การขับเครื่องเฉพาะ เครื่องจะสั่นแรงขึ้น เราก็จะต้องสื่อสารให้เข้าใจ อย่างมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ผม ต้องการให้นักบินหยุดอยู่ตรงเหนือจุดปล่อยตัว นักวิ่งมาราธอนซึ่งมีประชาชน นักวิ่งจำนวนมาก มาออ รอที่จุด Start พี่นักบินก็พยายามหยุดเครื่อง (แต่ไม่ได้ดับเครื่องนะ) แต่ตำแหน่งมันไม่สวย คือ มุมกล้องไม่ได้ อาจจะต้องถอยหลัง ไปอีกสัก 10 เมตร จะพอดี
        การถ่ายภาพบนเครื่องจึงเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ของทั้งนักถ่ายภาพด้วยกัน นักบิน ผู้ช่วยนักบิน รวมทั้งคนที่อยู่บนพื้นดินด้วย อย่างกรณีถ่ายภาพรวมพลัง คนเสื้อเหลือง ฟ้า พอเครื่องลอยอยู่เหนือจุดถ่ายภาพ มุมกล้องสวย ๆ คนที่เข้าแถวจำนวนนับพันก็คือจะโบกไม้โบกมือ เล่น กับช่างภาพ บนเครื่องด้วย นั่นเอง
       เอาไว้แค่นี้ก่อนนะครับ มีโอกาสขึ้นเครื่องถ่ายภาพอีกจะนำมาเล่าให้ฟัง อาจจะมีมุมมองและเทคนิคใหม่ๆ มาฝาก กัน โดยเฉพาะเรื่องของการจัดองค์ประกอบภาพ สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการชมภาพตัวอย่างผลงานที่ผมถ่ายไว้ ก็แวะชมได้ที่ ศูนย์รวมภาพสวยเมืองขอนแก่น click


ตอบคำถามการถ่ายภาพ

ศูนย์ฝึกอบรมภูมิปัญญาสู่สากล
ทีมงานวิชาการ : การถ่ายภาพ