Mind Map® and Tree Diagram
แผนที่ความคิดกับแผนผังต้นไม้

เรียบเรียงโดย เภสัชกรประชาสรรณ์ แสนภักดี M.P.H. CMU

       มีอีกเรื่องที่อยากจะนำมาให้เรียนรู้กันคือ แผนผังต้นไม้ กับ แผนที่ความคิด หรือเป็นภาษาอังกฤษ ว่า Tree Diagram and Mind Map® ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้มีความใกล้เคียงและเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์บางโปรแกรม ที่เป็นโปรแกรมเขียนแผนที่ความคิด สามารถสั่งให้โปรแกรมเปลี่ยนจาก Mind Map® ให้เป็น Tree Diagram ได้โดยการทำงานเพียงครั้งเดียว
       ในบทความตอนนี้มีเรื่องที่จะต้องเรียนรู้อยู่ สอง เรื่องคือ หลักการแผนผังต้นไม้ และ หลักการ แผนที่ความคิด และการประยุกต์ เรื่องทั้ง สองไปใช้กับงานในชีวิตจริง กับโครงการ หรือการประชุมเวทีต่างๆ ขององค์กร
       สำหรับความรู้เรื่องของ Mind Map® ผู้เขียนได้ให้ข้อมูลที่หลากหลาย ในเว็บไซต์แห่งนี้แล้วคงจะมีกล่าวถึงอีก ผู้อ่านหรือผุ้สนใจ สามารถ เรียนรู้ได้จากข้อมูลที่ให้ รวมทั้งการเรียนรู้จากเว็บไซต์ที่แนะนำ
       เรามาทำความรู้จักเครื่องมือที่ชื่อ Tree Diagram กันก่อน ว่าคือ อะไร มีหลักการอย่างไร เพื่อจะได้ประยุกต์ การเขียนแผนที่ความคิดไปใช้งานได้ตรงตามที่ต้องการ
       แผนผังต้นไม้มีแนวทางการพัฒนามาแนวเดียวกันกับ การจัดทำผังครอบครัว (Family Tree) และการจัดทำผังองค์กร (Organization Chart)
แผนผังต้นไม้คืออะไร แผนผังต้นไม้ เป็นแผนผังที่ใช้ในการหามาตรการที่ดีที่สุดจากหลายๆ มาตรการเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จ ลุล่วงไปได้
เมื่อไรจึงจะใช้แผนผังต้นไม้
       1. เมื่อต้องการแก้ปัญหาโดยมีการกำหนดมาตรการไว้อย่างเป็นระบบ (System approach)
       2. เมื่อต้องการให้สมาชิกกลุ่มมีมติที่มีความสอดคล้องกัน (Compromise)
       3. เมื่อต้องการแสดงความสัมพันธ์ของปัญหากับมาตรการแก้ไขในรูปของแผนผัง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเข้าใจ (มองภาพรวมในหน้าเดียวเหมือน Mind Map®)

วิธีการสร้างแผนผังต้นไม้
ขั้นตอนที่ 1 ตั้งเป้าหมาย
1.1 การตั้งเป้าหมายนั้นอาจจะตั้งจากปัญหาที่ถูกตั้งไว้ในแผนผังก้างปลา (Cause and Effect Diagram) หรือ แผนผังความสัมพันธ์ (Relation Diagram) หรือ ปัญหาที่ได้มาจากที่ใด ๆ ก็ได้ที่ท่านจะแก้ไข จากนั้นให้เขียนเป้าหมายนี้ลงไปในบัตร (Card) แล้ววางบัตรนี้เอาไว้ที่ซ้ายมือสุด ตรงกลางของกระดาษแผ่นใหญ่
1.2 เป้าหมายที่ตั้งนั้นหากมีข้อกำหนดเงื่อนไขใดๆ ให้เขียนข้อความเหล่านั้นลงในบัตรด้วยเช่นกัน
(กรณีใช้โปรแกรม Mind Map เป็นการเพิ่ม Note หรือ Callout นั่นเอง)
       ในการตั้งเป้าหมายนั้น ประโยคจะต้องสั้น ง่าย และกระชับ เพื่อให้ทุกๆ คน เข้าใจง่าย (คล้ายกับในกฎพื้นฐานของ Mind Map® ที่จะต้องใช้คำที่สั้นกระชับสำหรับ Subject of Mind Map) และจะต้องให้สมาชิกในกลุ่มทุกคนเข้าใจด้วยว่า เหตุใดจึงตั้งเป้าหมายนี้ขึ้นมา เพราะอะไร
ขั้นตอนที่ 2 สร้างชุดมาตรการการแก้ไขปัญหา
2.1 สมาชิกร่วมกันปรึกษาหารือกันว่ามาตรการใดเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้นได้บ้าง ซึ่งในขั้นตอนนี้เราจะได้ "มาตรการขั้นที่ 1"
2.2 นำมาตรการขั้นที่ 1 ที่ถูกเลือกมาเขียนลงในบัตร แล้วนำไปเรียงไว้ที่ด้านขวาของบัตรเป้าหมายที่ได้จากขั้นที่ 1
2.3 บัตรที่ได้จากข้อ 2.2 แต่ละบัตร กลายเป็นเป้าหมาย และให้หาต่อไปว่า มาตรการที่จะแก้ไขบัตรมาตรการที่หนึ่งนั้น จะต้องมีมาตรการอย่างไรต่อไปบ้าง กลายเป็นบัตร มาตรการขั้นที่ 2, 3 ไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง เจอมาตรการที่พอจะแก้ไขได้ หรือปฏิบัตรได้จริง

มาตรการขั้นที่ 1

มาตรการขั้นที่ 2

มาตรการขั้นที่ 3 - 4

ภาพประกอบ Tree Diagram ผู้เขียนใช้โปรแกรม MindMapper v3.5 สำหรับการสร้าง Tree diagram สามารถ Download ได้จาก www.mindmapper.com

ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบมาตรการ และความหมายของความสัมพันธ์
       ให้ตรวจสอบดูบัตรมาตรการทั้งหมดที่ได้จากขั้นตอนที่ 2 และตรวจสอบว่ามีอะไรตกหล่นบ้างหรือไม่ และมีความขัดแย้งใดเกิดขึ้นหรือไม่ โดยในการตรวจสอบนั้น ให้ทำการตรวจสอบ 2 มุมดังต่อไปนี้
        3.1 มาตรการนี้สามารถแก้ปัญหาให้บรรลุผลสำเร็จได้จริงหรือไม่
        3.2 มีทางเป็นไปได้หรือไม่ท่จะบรรลุเป้าหมายได้โดยใช้มาตรการนี้
เรียกง่ายๆ ว่า เป็นการทดลองตรวจสอบ จากซ้ายไปขวา และจากขวาเป็นซ้าย
ถามจากซ้ายไปขวา
เช่น การจะสนับสนุนนักกีฬาให้ติดทีมชาติไทยนั้นต้องมีเทคนิคด้านกีฬาใหม่ๆ การมีเทคนิคกีฬาใหม่ๆ ได้เมื่อจัดจ้างโค้ชจากต่างชาติ การจะได้โค้ชต่างชาติมาต้อง.... (ถาม ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้มาตรการสุดท้าย Why-Why analysis)

ในขณะเดียวกันทดลองถามกลับจากขวาไปซ้ายบ้าง
เช่น การจัดจ้างโค้ชจากต่างชาติมา ทำให้เราได้เทคนิคกีฬาใหม่ๆ (จริงหรือไม่) เมื่อได้เทคนิคใหม่ๆ มา จะช่วยให้นักกีฬาติดทีมชาติไทยได้ (จริงหรือไม่)

ขั้นตอนที่ 4 กำหนดโครงต้นไม้

        เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่ขัดแย้งกัน ให้นำบัตรมาตรการไปติดไว้ที่กระดาษในตำแหน่งที่เหมาะสม (ด้านขวามือของเป้าหมายของแต่ละอัน) จากนั้นก็ลากเส้นเชื่อมโยง ระหว่างเป้าหมายกับมาตรการ เพื่อทำการสร้างแผนผังต้นไม้

ขั้นตอนที่ 5 กำหนดแผนปฏิบัติการ

       สุดท้าย ทำการกำหนดแผนปฏิบัติการ โดยกำหนดตามลักษณะของ "5W 2H" (What, Why, Who, When, Where, How and How much)

ชนิดของแผนผังต้นไม้
       โดยทั่วๆ ไปเราอาจเห็นหน้าตาของแผนผังต้นไม้ในหลายรูปแบบด้วยกัน บางรูปแบบอาจใช้สำหรับเพียงแค่ภาพ เพื่ออธิบายโครงสร้างขององค์กร แต่สำหรับแผนผังต้นไม้ที่ใช้ในการแก้ปัญหานั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
       1. ประเภทการวิเคราะห์แบบ Why - Why Tree
       2. ประเภทการวิเคราะห์แบบ How - How Tree
       ความแตกต่างของ Why - Why Analysis กับ How - How Analysis คือ Why - Why จะใช้เมื่อเราต้องการจะวิเคราะห์หาสาเหตุรากเหง้า (Root Cause) ของปัญหา เพื่อสร้างแผนปฎิบัติการที่จุดนั้นๆ โดยที่ยอดของแผนผังต้นไม้ จะแสดงปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น
       ส่วน How - How Tree จะใช้เมื่อต้องการหามาตรการแก้ไข เพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายที่ต้องการ โดยที่ยอดของแผนผังต้นไม้จะเป็นเป้าหมายที่ต้องการจะไปถึง

การใช้ Mind Map
       
ในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการช่วยการสร้างแผนผังต้นไม้นั้น จะช่วยลดเวลาลงได้อย่างมาก ไม่ต้องมานั้งจัดเรียงกระดาษแผ่นเล็ก ไม่ต้องเสียเวลาจัดหมวดหมู่ บนแผ่นกระดาษ แต่เราสามารถใช้ Mind Map® software ระดมความคิดเห็น(Brainstorming) จัดลำดับความสำคัญไปพร้อมๆ กัน ทำให้การทำงาน ไม่เสียเวลา ไม่น่าเบื่อ ผู้เข้าร่วมประชุม มีความสนุก เป็นการเรียนรู้ที่น่าสนใจ การใช้ Mind Map จะช่วยให้เรามองเห็นภาพรวมของปัญหา (The Whole) ไปพร้อมๆ กับการมองส่วนประกอบย่อย (The Parts)
       สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการเขียนแผนที่ความคิด โดยส่วนใหญ่จะมี function ในการสั่งให้แตกแขนงความคิดไปด้านขวา ในลักษณะคล้ายๆ กับ Tree Diagram ได้ ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเริ่มต้นจาก Mind Map® แล้วค่อยลงท้ายด้วย Tree Map

ตัวอย่างคำสั่งของโปรแกรม MindMapper v3.5 ที่สามารถสั่งให้แผนผังต้นไม้แตกกิ่งแขนงออกไปในทิศทางที่ต้องการ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ www.mindmapper.com
ตัวอย่างคำสั่ง MindMapper
       
สำหรับเรื่องราวของ Tree Diagram ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือ 17 เครื่องมือนักคิด Problem Solving Devices ของ วันรัตน์ จันทกิจ สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th ราคาเล่มละ 265 บาท

     เรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม : Tree Diagram , Concept Mapping , MindScape, Fish bone Diagram, Relation Diagram ลองเข้าไปศึกษาจากเว็บไซต์ต่างๆ ดูนะครับ จะได้ประยุกต์ใช้ Mind Map ได้เต็มรูปแบบ เต็มประสิทธิภาพ ผู้เขียนจะนำเสนอแต่ละเรื่องในโอกาสต่อไป











หมายเหตุ : ต้องการหลักสูตรอบรมแผนที่ความคิดกับการประยุกต์ใช้งาน ติดต่อ กับศูนย์ฝึกอบรมได้ตลอดเวลาท่ e-mail ด้านล่างนี้


Glocalization Training Center

e-mail : glocalization@thailand.com
Fax : 0-4332-4071
Mobile : 0-1661-8579
copy right © 2003-2004